วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บ้านไม้สัก 6 บันได

บันไดบ้านเป็นส่วนโชว์ของบ้านส่วนแรก จึงพิถีพิถันพอสมควร สืบค้นดูจากเวป แล้วมาออกแบบ
ให้เหมาะสมกับบ้าน โดยแยกเป็นสองส่วนคือเสาบันไดและตัวบันได
ออกแบบเป็นทางขึ้น 2 ทาง


เสาบันไดใช้ไม้สักจำนวน 10 ท่อน สั่งช่างบ้านห้วยขะยุงกลึงให้ 
เข้าคิวใช้เวลาเกือบ 6 เดือนครับ


บริเวณที่ตั้งบันได


ตัวบันไดเป็นบันไดเก่าไม้ประดู่ ลูกบันไดเป็นไม้มะค่าแต้ ขนาด 2 x 10 นิ้ว



ภาพสำเร็จ เนื่องจากเป็นไม้ยังไม่แห้งสนิท
เลยมีปัญหาตามมาคือ บริเวณหัวไม้จะแตก ระแหง ต้องอุดภายหลัง ทาสีไม้ของเบเยอร์
เป็นอันว่า บันไดบ้านเสร็จสมบูรณ์


จุดนี้ เป็นจุดฮิต  จะมีสาวๆ มาชักภาพเป็นประจำครับ

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ้านไม้สัก 5 ประตู หน้าต่าง

ประตู หน้าต่างเป็นส่วนสำคัญของบ้าน การออกแบบประตู เป็นแบบประตูแขวน เป็นประตูไม้สัก 4 บานและไม้ประดู่ 2 บาน สั่งทำจากโรงเลื่อยครับ ส่วนหน้าต่าง ขนาด 60 x 180 ซม. จำนวน 22 บาน
 
ประตูไม้สักเป็นประตูเลื่อน ฝีมือช่างจากโรงเลื่อย ไม้เราเองครับ


ประตูไม้ประดู่นำเข้าจากลาว ฝีมือช่างเวียดนามครับ


ประตูห้องน้ำไม้ตะเคียนทอง เป็นไม้เก่าขายริมถนน รียูสใหม่ครับ ฝีมือเข้าไม้เนี้ยบมาก
จนต้องซื้อมา 2 บาน

วงกบหน้าต่างใช้พยอมครับ ตัดมาจากสวน(ไม้สักไม่พอ) ช่างโรงเลื่อยจัดการให้แบบ
ใหญ่มากหนักจนกระทบกับคานล่าง(แอ่น) จนต้องเสริมคานในภายหลัง
แต่ดีที่กรอบไม่บิด ไม่ส่งผลต่อหน้าต่างเมื่อภายหลัง


หน้าต่างขนาด 60 x 180 ซม. ติดกระจกเขียวใส 


วงกบที่หนักมาก สังเกตส่วนล่างจะแอ่นแล้วครับ ต้องเสริมคานล่างโดยใช้แม่แรงช่วยดันขึ้น


ด้านนอกครับติดกระจกเสร็จแล้ว ช่างกระจกเป็นผู้ปกครองของลูกศิษย์ ฝีมือดีมากครับ
ติดกระจกวันเดียวเสร็จเลย


ด้านในติดผ้าม่านเรียบร้อย เรือนใหญ่ครับ


หน้าต่างเรือนเล็กครับ


ประตูทั้ง 3 ช่องเมื่อสำเร็จแล้วครับ 

การติดประตู หน้าต่าง มีงานปลีกย่อยตามมาหลังจากที่ช่างติดให้แล้วเช่น หน้าต่างบางบานแน่นมากไป
ต้องเจียรขอบออก เชคทีละบาน ประตูเลื่อนก็เช่นกัน มีฝืดบ้าง ช่องห่างบ้างต้องนำผ้าสักหลาดมาติดเสริมปิดช่องภายหลัง งานเหล่านี้ทำเองครับ 

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ้านไม้สัก 4 ฝา เพดาน หลังคา

ฝาผนังบ้านออกแบบไว้ เป็นผนัง 2 ชั้นเพื่อกันน้ำ กันเสียง ตอนแรกนึกว่า เตรียมไม้สักไว้มากพอสมควรแต่พอใช้จริง บานเลยครับ จนกระทบไปถึงเพดานตอนแรกจะใช้ไม้สัก มาลงตัวที่ไม้อัดสักแทน

ไม้ฝาที่เตรียมไว้ เลื่อยแบบฝานบวบสำหรับภายนอก


กระเบี้องซีแพคโมเนีย เขียวไพรพฤกษ์


ฝาผนังภายนอก บุด้วยไม้สักแบบบังใบและลูกตั้ง


ฝาภายในบุด้วยไม้สักแบบเข้าลิ่ม ทาสีเบเยอร์อะควาสเตน สำหรับทาภายใน


เพดานบริเวณชานที่มีหลังคาเป็นไม้สักขนาด 1/2 x 4 นิ้ว ยาว 1.5-2 เมตร


โครงเพดานและหลังคาใช้แผ่นกันความร้อนก่อนปูแผ่นกระเบื้องทับ


โครงสร้างหลังคาทั้งหมด


ลูกตั้งฝาผนัง


โครงฝาผนังและเพดาน


สำเร็จแล้วเพดานไม้อัดสักทำเป็นหลุม 1 ชั้น ติดไฟหลุุม 6 หลุม และโคมอีก 1 ช่อ


หลังคามุงกระเบื้องเป็นหลังคา 2 ชั้น บริเวณจั่วมีช่องลม และติดตั้งคันธงซึ่งเป็นเอกลักษณ์
ของบ้านไทยอีสาน

รางน้ำฝนรอบบ้านใช้พลาสติกสีน้ำตาล ปล่อยลงหลังบ้าน ใช้ช่างจากโฮมฮับรับเหมาทั้งวัสดุและ
ช่าง ของเหลือหักคืนร้านได้หมด ดูแล้วสวยดี ข้อควรระวังคือการจับระดับน้ำของรางน้ำ ให้ลาด
เอียงน้ำไหลได้พอดี ไม่ตกค้างตรงรอยต่อ ยาแนวรอยต่อให้สนิท จะไม่รั่วภายหลัง
ปีนขึ้นไปซ่อมยากครับ


ผนังบ้านด้านนอกครับ ทาสีเบเยอร์วูดสเตน สำหรับทาภายนอก 2 รอบ
งานผนัง เพดานค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องปรับหน้าไม้ ลายไม้ ขนาดไม้ให้เข้ากัน
จากนั้นต้องอุดรอยแตก รอยแยกให้สนิท แล้วขัดจนเรียบเนียนจึงลงสีได้ จึงได้งานที่มีคุณภาพ
ต้องรบกับช่าง ใช้ลูกล่อ ลูกชน เหนื่อยเลยล่ะครับ

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ้านไม้สัก 3 พื้น

        การวางแผนพื้นบ้านออกแบบไว้ 3 ส่วนครับ คือ พื้นล่างเป็นกระเบื้องทั้งหมด พื้นบ้านที่ยกสูงขึ้นมา ด้านในห้องและด้านนอกที่ไม่ถูกฝน เป็นพื้นไม้สักทั้งหมด ส่วนพื้นด้านนอกที่เป็นพื้นโล่ง ถูกแดด ถูกฝน ใช้ไม้จิกเก่า และไม้เคี่ยม


พื้นล่างปูด้วยกระเบื้องขนาด 40 x 40 ทั้งหมดของพื้นที่ เจตนาคือ จะไม่ให้ปลวกมีโอกาสโผล่ขึ้นมาทำร้ายบ้านได้


บริเวณนอกชานที่จะถูกแดด ถูกฝน


นอกชานอีกด้านหนึ่งอยู่ระหว่างเรือน มีห้องน้ำด้านนอก 1 ห้อง


พื้นบริเวณนอกชานที่มีหลังคาใช้ไม้สักครับ เป็นไม้ ขนาด 1 x 5 นิ้ว ยาว 2 - 2.5 เมตร ปูแบบเข้าลิ่ม


นี่คือภาพสำเร็จแล้วบริเวณนอกชานมีหลังคา ทาสีน้ำของเบเยอร์ครับ สีจะบางรักษาลาย สีเก่าของไม้สักไม่มีกลิ่นของสีและทินเนอร์


ภาพสำเร็จแล้วบริเวณนอกชานไม่มีหลังคา ปูพื้นไม้ห่าง ประมาณ 1 ซม.เพื่อให้น้ำไม่ขังเวลาฝนตก ทาสีของเบเยอร์ เป็นสีทาภายนอกแบบหนาครับ ทา 3 รอบ เขาโฆษณาว่า กันแดด กันฝนได้เลยลองดู
และทำที่นั่งไว้  2 ด้านโดยใช้ไม้แดงเก่า ไว้นั่งชิวๆ รับลมตอนเย็นๆ


ภาพสำเร็จพื้นนอกชานบริเวณระหว่างเรือน 1 กับ  เรือน 2
ไม้พื้นที่เป็นไม้จิกเก่าที่ใช้ปูภายนอกชานเป็นไม้เนื้อแข็ง ตอนไสช่างแทบร้องไห้ครับ เพราะแข็งมาก 
ไสได้ 1 แผ่น ต้องเปลี่ยนใบกบไฟฟ้าครั้งหนึ่ง ผมขับรถตระเวณหาซื้อไม้พื้นบ้านเก่าแบบโบราณหนามาก เก็บสะสมมาจากหลายร้าน กะว่าจะทนแดด ทนฝนไปอีกนาน

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บ้านไม้สัก 2 โครงสร้าง

โครงสร้างบ้าน

ลงเสาเอกเรียบร้อย ถึงขั้นตอนลงเสาทั้งหมดและก่อโครงสร้างครับ บ้านไม้พื้นโล่ง เสาช่วงล่างผมใช้ท่อประปา สวมด้วยโครงหล็ก เหตุเพราะกลัวปลวกครับ (ส่วนล่างจะไม่ให้มีไม้ไว้ล่อปลวก) เสาจำนวน 19 ต้น


ไม้คาน (ขาง) ขนาด 2 x 8 x นิ้ว ยาว 6 เมตร


เสา เป็นคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว 


การต่อหัวคอนกรีตกับไม้ใช้แผ่นเหล็ก 2 แผ่น เชื่อมไว้กับโครงเหล็กของเสาคอนกรีต ยึดด้วยน้อตอีกที



การตั้งเสาใช้เหล็ก 3 เส้า แล้วใช้รอกชักขึ้นไป


การตั้งเสาจับด้วยลูกดิ่งและระดับน้ำแบบโบราณ


โครงหลังคาใช้เหล็กกล่องทั้งหมดเชื่อมยึดติดกัน ช่างบอกว่า ถ้าพายุมาไม่มีทางจะยกโครงหลังคา
ไปได้  ยกเว้นจะยกไปทั้งหลัง


อีกมุมหนึ่งของโครงบ้าน ตงเป็นไม้ขนาด 2 x 6 นิ้ว วางห่าง 50 ซม. เป็นอันว่า โครงพื้นกับหลังคาสำเร็จแล้วกว่าจะถึงขั้นนี้ใช้เวลา เกือบ  2 เดือนครับ ต้องลุ้นทุกวัน การดูแลช่างนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องตระหนักครับ แต่ละวันควรได้คุยกับช่างล่วงหน้าว่า พรุ่งนี้จะทำอะไร อย่างไร จะได้ไม่ต้องแก้ไขกัน
ภายหลัง เสียทั้งเงิน เสียเวลาและที่สำคัญเสียความรู้สึกด้วยครับ 

บ้านไม้สัก 1 ลงเสาเอก

         คิดจะสร้างบ้านไม้ซักหลัง ก็น่าปวดหัวแล้ว ยิ่งไม้สักด้วยแล้วงานเข้าเลย แต่ด้วยความหลงไหลในไม่สักก็ต้องยอมทุ่มสุดตัว พอดีคุณน้องมีไม้สักปลูกไว้อยู่  2 แปลงไม่หวงซะด้วย(สร้างแล้วจะกลายเป็นมรดกลูกสาวเขา)เลยยอม กระบวนการได้มาไม่ยาก ไม่ซับซ้อนแต่ยาว ใช้เวลาหน่อย กล่าวคือ 1.ไปป่าไม้จังหวัด ขอขึ้นทะเบียนสวนป่า จนท.มาตรวจ ส่งเข้ากรม อนุมัติ 2.ขออนุญาตตัด จนท.มาตรวจ ถ่ายภาพส่งเข้ากรม อนุมัติ  3.ขอฆ้อนตีตรา ส่งเข้ากรม อนุมัติ รวมแล้ว 1 ปี จึงตัดได้ ขอไป 100 ต้น
         ตอนนี้ถึงเวลาตัดละ ตัดอย่างไร ตัดเอง จ้างคนตัด ตัดแล้วเอาไปไว้ไหน ไม้ตั้งเยอะแยะ หาวิธีอยู่ร่วม 3 เดือน จึงลงตัวที่ไปหามืออาชีพดีกว่า คือ โรงเลื่อย เลย เขาจัดการให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ ตัด ชักลากมาเก็บที่โรงเลื่อย แปรรูป ไส ขัด จนได้ไม้ที่ต้องการ แต่ก็ต้องจ่ายทุกขั้นตอนเหมือนกัน(อ้วกเลย)


กระเบื้องซีแพค


 ไม้ฝา


ไม้พื้น


ไม้ฝาอีกส่วนหนึ่ง


คานล่าง/บน


เสาไม้สักทั้งต้น
ไม้มีแล้ว วัสดุมีแล้ว ช่างบ้านไม้ล่ะ โอ้ God มันช่างหายากเย็นจริงๆ เกือบ 3 เดือน บางรายมาดูแล้วก็บอกว่าบ้านไม้สักกลัวทำให้ได้ไม่ถูกใจ บางรายก็บอกว่าบ้านไม้สักต้องละเอียด ใช้ฝีมือ เสนอราคามาแพงมาก จนไปสรุปที่ช่างบ้านห้วยขะยุง การว่าจ้างแบบจ่ายเป็นค่าแรงคับ ค่าวัสดุเป็นของเราทั้งหมดและแล้วก็ถึงเวลาที่รอคอย

         ลงเสาเอก



โปรยข้าวตอก ดอกไม้ เงิน ทอง



เลือกตำแหน่งเสาเอก


ลงเสาเอกได้ยายเหลย พี่บำุรุงและพี่อ๋อย มาเป็นพ่อแก่ แม่เฒ่า เป็นสิริมงคลแก่บ้าน


เสาต่อไปก็เป็นหน้าที่ของช่างแล้วครับ